betterlife – aging

2. ว่าด้วยเรื่อง…สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และท่านจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรเมื่อวัยนั้นมาถึง?

ใส่ความเห็น

till old 4

การเกิด-แก่-เจ็บ-ตายเป็นสภาวะที่มนุษย์ทุกคนมิอาจหลีกเลี่ยงสัจธรรมความจริงนี้ไปได้ แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆแล้วท่านจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร หากสังขารร่วงโรย เรือนร่างทางกายเหี่ยวแห้ง เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม และเมื่อถึงช่วงระยะเวลานั้นผู้คนในสังคมจะปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมที่อุดมไปด้วยผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
ผู้สูงอายุโดยปกติในสังคมไทยเรานับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุและถือว่าเป็นวัยเกษียณอายุราชการไปด้วย ในสังคมอเมริกา ญี่ปุ่นเขาก็จะนับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่วนในประเทศแถบแอฟริกาจะนับอายุตั้งแต่ 50 ปี ทั้งนี้การนิยามผู้สูงอายุนอกจากจะนับตามอายุเกิดเป็นหลักแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่บริบทสังคม วัฒนธรรมและสภาพร่างกายของประชากรในประเทศนั้นๆ สังเกตไหมคะว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะนับอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะนับอายุต่ำกว่านั้น
แล้วที่เขาเรียกกันว่า….สังคมผู้สูงอายุ เขาจำแนกกันอย่างไร? กำหนดด้วยเงื่อนไขอะไร? องค์การสหประชาชาติได้แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society หรือ Aging society) หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 % ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือ ประชากรอายุ 65 ปีมากกว่า14% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ
3. ระดับสังคมอุดมไปด้วยผู้สูงอายุ (Super-aged society) หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ

ผู้สูงอายุในสังคมไทย
สำหรับสังคมไทยขณะนี้ประเทศเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีไม่ต่ำกว่า 10 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด และอัตราผู้สูงอายุ 65ปีขึ้นไปได้พุ่งทะยานจาก 7% ในปี 2005 สูงขึ้นถึง14%ในอีก 9 ปีข้างหน้าปี 2023 ซึ่งเมื่อนั้นเราจะถือว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed aged society)

จากสถิติและสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุนับวันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า คนอายุยืนมากขึ้น ตายยากขึ้น เพราะการแพทย์ที่ทันสมัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อายุยืนแล้วจะมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรามักพบว่า ผู้สูงอายุกลับต้องทนทุกข์เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสารพัด ผู้สูงอายุว้าเหว่โดดเดี่ยวเดียวดาย ถูกละเลยจากสังคมและลูกหลาน….ฯลฯ….และเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกเรียกว่า…ภาวะพึ่งพิง

ฟังแล้วมันดูรันทดยังไงชอบกลอยู่นะคะ…. แต่ถ้าเรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และได้เตรียมความพร้อม เตรียมตัว เตรียมใจในการดูแลตนเองยามแก่…. สร้างพลังที่มีอยู่ในตัวตนออกมาให้มีคุณค่าและทำคุณประโยชน์กับสังคม เราก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีผลิตภาพ ทรงคุณค่า ( Productive Aging) และสังคมก็มีความสุข (Happy-healthy aging society)

การเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรเมื่อวัยนั้นมาถึง
จากการศึกษาพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และการเตรียมตัวเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีผลิตภาพ ทรงคุณค่า หรือที่เรียกว่า พฤฒพลัง (Active aging, productive aging, successful aging) วัชราภรณ์ เปาโรหิต (2011:32-36) ได้ทำการวิจัย Living longer: Living as active ageing มีข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆซึ่งประกอบด้วย
1. การเตรียมตัวด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต: การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดเนื้อสัตว์ไขมัน รับประทานผัก ผลไม้และปลามากขึ้น การออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ งดเหล้าบุรี่สิ่งเสพติด ดูแลสุขภาพจิตฝึกจิตให้สงบ
2. การเตรียมตัวด้านการเงินและที่อยู่อาศัย: กำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ เช่น การออมเงินเพื่อทรัพย์สินที่อยู่ อาศัย และรายจ่ายเพื่อการดำรงชีพกรณีไม่มีบำนาญหรือไม่มีบุคคลพึ่งพา การทำประกันสุขภาพ
3. การเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม: กิจกรรมความสัมพันธ์สังสรรค์กับเพื่อนฝูง กับครอบครัว ร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรที่ชื่นชอบ เป็นต้น

นอกจากจะเตรียมตัววางแผนเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในด้านต่างๆดังกล่าวแล้ว การได้ทบทวนตนเอง การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองเพื่อเตรียมตัวแก่อย่างมีความสุข ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดบวก การมองโลกในแง่ดีเพื่อให้ตนเองเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข ศ.นพ. เสนอ อินทรสุขศรี ท่านเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้สูงอายุที่เรียกได้ว่ามีความสุขจบจนสิ้นอายุขัยด้วยวัย 92 ปี (ท่านเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 กพ. 2557 ที่ผ่านมา) ท่านได้เขียนที่เขียนบทความ“ฉันจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข” เพื่อเผยแพร่ในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ไว้ดังนี้
“เมื่อฉันเข้าสู่วัยสูงอายุ…
– ฉันจะไม่มัวนั่งคิดว่าตัวเองแก่ แต่จะดำรงตนให้เป็นประโยชน์ด้วยการให้คำปรึกษาแก่คนหนุ่มสาว
–  ฉันจะไม่คอยแต่รบกวนใครๆ เขาจนเกินไป และจะไม่คิดมากให้ลูกหลานระอาใจ
–  เมื่อมีปัญหา ฉันจะไม่อวดดี และจะยอมรับฟังคำแนะนำของผู้อื่น
–  ฉันจะนึกเสมอว่า….ชีวิตกับงานเป็นของคู่กัน จะไม่มัวนั่งๆนอนๆ แต่จะหางานที่สามารถทำได้ตามกำลังเพื่อช่วยให้เกิดสุขทางใจและแบ่งเบาภาระลูกหลาน
– ฉันจะคิดเอาไว้เสมอว่า… “อายุ” ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้ฉันเลิกเคารพนับถือตนเองและผู้อื่น
– ฉันจะคิดว่า….พวกลูกๆ หลานๆ อาจไม่อยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ร่วมภายในบ้านกับฉันได้ เพราะพวกเขาต้องมีครอบครัวของตัวเอง
– ฉันจะเตือนตัวเองเสมอว่า…อย่าเอาแต่ใจ
– ฉันจะเตือนตนเองเสมอว่า….อย่าเก็บตัวเงียบๆ เพราะการอยู่อย่างเหงาหงอยเปล่าเปลี่ยวทำให้ทุกข์
– ฉันจะคิดเอาไว้เสมอว่า….ฉันต้องเข้ากับใครๆ ให้ได้ทุกคนและฉันจะไม่จริงจังกับชีวิตมากเกินไป…

บทสรุป
การก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีความสุข แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำใจยากอยู่ซักหน่อย แต่หากเราได้เรียนรู้ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง มีการเตรียมความพร้อมในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ทั้งสุขภาพร่างกายจิตใจ วางแผนเตรียมตัวทางการเงินที่อยู่อาศัย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนวิธีคิดพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมในเชิงปัจเจกบุคคลแล้ว คนในครอบครัว ผู้คนในสังคมก็ต้องตระหนักและเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และทุกฝ่ายในสังคมก็ต้องร่วมกันขบคิดกันต่อไป โดยเฉพาะภาครัฐจะต้องมีนโยบายและแผนแม่บทในการจัดสวัสดิการสังคมและดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและบูรณาการกันทุกฝ่าย

ดร.กัญญารัช วงศ์ภูคา
18 กันยายน 2557

ใส่ความเห็น